ข้าวเหนียวหอมนาคา

Hom-naka Rice

ข้าวเหนียวหอมนาคา (Hom Naka)

 

ข้าวเหนียว “พันธุ์หอมนาคา” เกิดจากการผสมระหว่างข้าวสายพันธุ์ RGD10033-77-MS22 เป็นสายพันธุ์แม่ และข้าวสายพันธุ์ RGD11169-MS8-5 เป็นสายพันธุ์พ่อ ที่ห้องปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม เมื่อปี 2556 จนได้ลูกผสม F1 ปล่อยให้มีการผสมตัวเองได้ลูก F2 แล้วคัดเลือกลักษณะไม่ไวต่อช่วงแสง ลักษณะทรงต้นที่ให้ผลผลิตดี การติดเมล็ดดี รูปร่างเมล็ดเรียวยาว ลักษณะข้าวเหนียว โดยวิธีสืบประวัติ ทำการคัดเลือกต่อเนื่องในลักษณะเดียวกันในรุ่นที่ F3 จากนั้นทำการคัดเลือกลักษณะความหอม ทนน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคไหม้ ต้านทานโรคขอบใบแห้ง โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือก ในประชากรรุ่นที่ F4 และ F5 จนได้ต้นข้าวที่มีลักษณะเป็นข้าวเหนียว ไม่ไวต่อช่วงแสง มีความหอม ทนน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง จากนั้นปล่อยให้ผสมตัวเองและเก็บจนถึงรุ่นที่ F6 หลังจากนั้น นำข้าวประชากร F6 มาประเมินลักษณะทนน้ำท่วมฉับพลัน ลักษณะต้านทานโรคไหม้ ลักษณะต้านทานโรคไหม้ ลักษณะผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิต และประเมินลักษณะคุณภาพการหุงต้มในทางกายภาพและทางเคมี ณ ห้องปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม

 

 

การปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกร จ.ลำปาง จ.พะเยา และ จ.เชียงราย โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เมื่อปี 2562 จนคัดเลือกได้ข้าวเหนียว “พันธุ์หอมนาคา” ซึ่งมีลักษณะขาวเหนียว กลิ่นหอม นุ่มเหนียวเมื่อหุงสุก ทนน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคไหม้ ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ลำต้นแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ต้นสูงปานกลาง ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 930 กิโลกรัมต่อไร่ (อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล, อ่อนแอต่อโรคใบจุดสีน้ำตาล)

 

 

ลักษณะประจำพันธุ์

ชนิด

ชื่อไทย ข้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ Oryza sativa L. วงศ์ Poaceae

ประเภท

พืชล้มลุก ข้าวเหนียว ไม่ไวต่อช่วงแสง

ต้น

กอตั้ง ลำต้นมีความแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ความสูงของต้นวัดถึงปลายรวง 126 เซนติเมตร ปล้องสีเหลืองอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 5 มิลลิเมตร

ใบ

ใบเดี่ยว รูปแถบ กว้าง 1.8 เซนติเมตร ยาว 43.0 เซนติเมตร ปลายใบแหลม  ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีขน กาบใบสีเขียว ลิ้นใบสีขาว ปลายแยกสองแฉก ยาว 10 มิลลิเมตร หูใบสีเขียวอ่อน ข้อต่อใบสีเขียวอ่อน ใบสีเขียว มุมใบธงทำมุม 45 องศา กับแนวดิ่ง กว้าง 1.2 เซนติเมตร ยาว 27.4 เซนติเมตร ใบแก่ช้า

ดอก/ช่อดอก

ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง (panicle) จำนวนรวงต่อกอ 12 รวง การแตกระแง้ปานกลาง คอรวงสั้น กลีบรองดอกสีฟาง ยอดเกสรเพศเมียสีขาว

ผล/เมล็ด

ระยะเก็บเกี่ยว รวงยาว 23 ซม. เปลือกเมล็ดสีฟาง มีขนสั้น ไม่มีหาง ปลายสีฟาง ข้าวเปลือกกว้าง 2.39 มม. ยาว 10.19มม. หนา 1.95 มม. ข้าวกล้อง รูปร่างเรียวยาว สีขาว กว้าง 2.17 มม. ยาว 6.97 มม. หนา 1.80 มม. ข้าวขาวมีสีขาวขุ่น กว้าง 1.89 มม. ยาว 6.88 มม. หนา 1.66 มม. น้ำหนักข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด 29.5 กรัม จำนวนเมล็ดต่อรวง 163 เมล็ด การติดเมล็ด 80.47 เปอร์เซ็นต์

คุณภาพหุงต้ม

ปริมาณอมิโลส 6.27 เปอร์เซ็นต์, ค่าการสลายตัวในด่าง 6.0 และ ค่าความคงตัวแป้งสุก 131 มม.

ลักษณะเด่น

ต้านทานโรคไหม้ ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และทนน้ำท่วมฉับพลัน


 

 

งานวิจัยและพัฒนาพันธ์ุข้าว

บทความล่าสุด

ข่าวสารอัพเดด

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้ เพื่อให้ท่านได้รับการใช้งานเว็บไซต์ที่ดี แสดงผลได้ถูกต้อง หากคุณใช้งานเว็ปไซต์ของเราต่อถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้


© RICE SCIENCE CENTER, KASETSART UNIVESITY KAMPHAENG SAEN CAMPUS

เลขที่ 1 หมู่ที่ 6 ตำบล กำแพงแสน อำเภอ กำแพงแสน จังหวัด นครปฐม 73140 ประเทศไทย
ติดต่อแอดมิน anut.su@ku.th


  (+66) 086 479 5603


Free Joomla! templates by AgeThemes