ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ชื่อ เพราะ เป็นเหตุ เมื่อก่อน ‘เจ้าหอมนิล’ เดี๋ยวนี้ ‘ ไรซ์เบอร์รี่’
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นลูกผสมบริสุทธิ์ของข้าวขาวดอกมะลิ 105 กับ ข้าวเจ้าหอมนิล ที่เกิดมาด้วยความอร่อย จนคนลืมว่ากำลังบริโภคข้าวกล้องอยู่ จึงเกิดเป็นศึกชิง ‘ชื่อ’ ขึ้นมา ในปัจจุบันมีข้าว ที่มีสีดำแบบไรซ์เบอร์รี่ คือ ข้าวเจ้าหอมนิล (พ่อ) ข้าวดำสุโขทัย, ข้าวมะลิดำสุรินทร์ (ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์) ฯลฯ
ผลจากการตรวจวิเคราะห์ความบริสุทธิ์ทางพันธุกรรมของตัวอย่างข้าวไรซ์เบอร์รี่ในท้องตลาดจำนวน 10 ตัวอย่าง โดยห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี ม. เกษตรศาสตร์ พบว่ามีเพียง 5 ตัวอย่าง ที่เป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่มีความบริสุทธิ์ตั้ง 95% ขึ้นไป ในขณะที่ตัวอย่างที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มีข้าวพันธุ์อื่นๆ ปลอมปนตั้งแต่ 6-100% ดังนั้นซึ่งถ้าทำการสุ่มตรวจตัวอย่างมากขึ้น ก็น่าจะพบการปลอมปนที่หลากหลายขึ้นอีก
ภาพที่ 1 ตัวอย่างการตรวจสอบการปลอมปนข้าวไรซ์เบอร์รี่ โดยพบว่าตัวอย่างที่ผ่านเกณเกณฑ์ (มีความบริสุทธิ์เท่ากับหรือมากกว่า 95%) จำนวน 5 ตัวอย่างจากทั้งหมด 10 ตัวอย่าง ซึ่งข้าวเจ้าสีดำที่มักจะปนมากับข้าวไรซ์เบอร์รี่ ส่วนใหญ่ คือ ข้าวเจ้าหอมนิล
เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้บริโภค ในการเลือกซื้อข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวโภชนาการสูงแบบเกษตรอินทรีย์ จึงมีโครงการวิจัยตลาดต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเครื่องหมายรับรองคุณภาพข้าวอินทรีย์โภชนาการสูง ที่เรียกว่า ธัญโอสถ หรือ Rice ‘O’ Sod โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายคุณภาพนี้ จะต้องได้รับการควบคุมการผลิตการผลิตตั้งแต่ข้าวเปลือกจากแปลงเกษตรกรจนถึงข้าวถุงที่จะส่งถึงมือผู้บริโภค ปัจจุบันเครื่องหมายคุณภาพ ธัญโอสถ ได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในลักษณะเครื่องหมายชุด ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมาตรการที่เป็นข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ที่ได้ตราเครื่องหมายมาตรฐาน ธัญโอสถ รองรับ คือ 1) เป็นข้าวที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ที่มีมาตรฐานรับรอง 2) ความบริสุทธิ์ของพันธุกรรมข้าวมากกว่า 95% 3) มาตรการด้านการแปรรูปขั้นต้น จากโรงสีที่ได้รับมาตรฐาน GMP และได้รับการตรวจวัดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์, สารพิษและโลหะหนัก 4) มาตรการด้านการบรรจุหีบห่อ กำหนดให้ห้องบรรจุหีบห่อต้องได้รับมาตรฐาน HACCP 5) ต้องมีการตรวจสอบคุณค่าทางโภชนาการอย่างสม่ำเสมอและติดฉลากบนถุงข้าวต้องเป็นปัจจุบันให้มากที่สุด
ภาพที่ 2 เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนต่อสํานักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
การตรวจความบริสุทธิ์ของพันธุกรรมข้าว
สำหรับในส่วนของความบริสุทธิ์ของพันธุกรรมข้าว ตามมาตรฐาน ‘ธัญโอสถ’ กำหนดให้ข้าวที่จะได้รับการรับรองว่าเป็นไรซ์เบอร์รี่ ต้องมีความบริสุทธิ์ทางพันธุกรรม เท่ากับหรือมากกว่า 95% โดยตัวอย่างข้าวที่ส่งตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรม ตามมาตรฐานของห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี ม. เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
แนวทางการพัฒนาวิธีการตรวจการปลอมปนข้าวอย่างรวดเร็ว
เพื่อให้มีห้องปฏิบัติการที่สามารถให้บริการตรวจสอบเอกลักษณ์ดีเอ็นเอข้าว ให้กับสำนักงานมาตรฐานสินค้า กรมการค้าต่างประเทศ เป็นการเฉพาะในลักษณะ Reference Lab มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงเห็นควรจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เอกลักษณ์ดีเอ็นเอข้าวไทยเพื่อตรวจสอบความบริสุทธิ์ของข้าวไทยเพื่อการส่งออกขึ้นและสืบทราบถึงข้าวหอมจากประเทศเพื่อนบ้านที่อาจเป็นคู่แข่งของข้าวหอมมะลิได้ โดยห้องปฏิบัติการดังกล่าว จะดำเนินการในลักษณะ “โครงการภายใต้ความร่วมมือของกรมการค้าต่างประเทศ กับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ซึ่งในอนาคต ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ก็น่าจะเป็นข้าวส่งออกสำคัญในตลาดสุขภาพ ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงได้มีการพัฒนาวิธีการตรวจสอบการปลอมปนของข้าวไรซ์เบอร์รี่ขึ้นมาด้วย
วิธีการ
- สำรวจและจัดกลุ่มข้าวปลูกที่มีศักยภาพในการปลอมปนกับข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นกลุ่มตามลักษณะเด่น คือ สี, ขนาดเมล็ด, ความไวต่อช่วงแสง ฯลฯ
- ค้นหารหัสสารพันธุกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของข้าวในแต่ละกลุ่ม โดยเริ่มจากฐานข้อมูลเดิมที่ใช้เอกลักษณ์ดีเอ็นเอ ของห้องปฏิบัติการ DNATEC ค้นหารหัสสารพันธุกรรมของข้าวเหล่านี้จากงานวิจัย ค้นหารหัสดีเอ็นเอ ของยีนเป้าหมายที่น่าจะแยกความแตกต่างของพันธุ์ได้
- ค้นหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการวิเคราะห์ที่จะทำให้ต้นทุนต่ำลงทำชิ้นงานได้มากขึ้น รวดเร็ว แม่นยำ โดยปรับปรุงตั้งแต่ขั้นตอน การสกัดดีเอ็นเอ การทำปฏิกิริยาเคมีแบบลูกโซ่ (Polymerase Chain Reaction) และการตรวจวิเคราะห์โดยเน้นการใช้ระบบอัตโนมัติให้มากขึ้น
- ออกแบบห้องปฏิบัติการใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังพัฒนาอยู่จนได้ระเบียบวิธีการที่ดีที่สุดตามเป้าหมาย