สาขาเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร | มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเกษตร กำแพงแสน
  KU | Program in Agricultural Biotechnology
    FACULTY OF AGRICULTURE AT KAMPHAENG SAEN


เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)
และเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (Agricultural Biotechnology) คือ อะไร ?

บทความโดย พักตร์ จันทร์สว่างกูล ศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพ และความปลอดภัยทางชีวภาพ
safetybio.agri.kps.ku.ac.th


เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)

เทคโนโลยีชีวภาพ คือ เทคโนโลยีซึ่งนำเอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิต หรือชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต หรือผลิตผลของสิ่งมีชีวิต เพื่อเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการผลิตหรือกระบวนการ ของสินค้าหรือบริการ เพื่อใช้ประโยชน์เฉพาะอย่างตามที่เราต้องการ โดยสามารถใช้ประโยชน์ทางด้านต่างๆ เช่น ด้านการเกษตร ด้านอาหาร ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านทางการแพทย์ เป็นต้น




เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (Agricultural Biotechnology)

เป็นการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเกษตรทั้งทางด้านพืช สัตว์ และ จุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น
- การปรับปรุงพันธุ์พืช การผลิตพันธุ์พืชใหม่ ให้มีคุณค่าทางอาหารสูงขึ้น เช่น ในข้าวสีทอง (golden rice) เพื่อแก้ปัญหาประชากรที่ขาดวิตามินเอที่เป็นสาเหตุก่อโรคต่างๆ มากมาย
- ทำให้พืชต้านทานสารปราบวัชพืช ทนทานต่อแมลงศัตรูพืช ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมของภูมิประเทศ เช่น ความแห้งแล้ง อุทกภัย
- การพัฒนาผลไม้ให้สุกงอมช้ากว่าปกติเพื่อลดความเสียหายในระหว่างการขนส่ง
- การเพิ่มผลผลิตพืชโดยไม่ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูก
- การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อใช้ในการขยายพันธุ์พืชให้ได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว
- การผลิตท่อนพันธุ์พืชที่ปราศจากโรคเพื่อการลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค
- การปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกเพื่อให้มีอายุการปักแจกันให้ยาวนานขึ้นและมีกลิ่นหอม
- ทำให้พืชทนต่อโรคพืช เช่น มะละกอต้านทานไวรัสจุดวงแหวน พริกและมะเขือเทศต้านทานต่อไวรัส เป็นต้น
- ในด้านสัตว์ เช่น
- การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้มีลักษณะที่ดี
- การขยายพันธุ์โคนมที่ให้น้ำนมสูงโดยการปฏิสนธิในหลอดแก้วและการย้ายฝากตัวอ่อน
- การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคในกุ้งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
- การใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอตรวจสอบพันธุ์สัตว์เศรษฐกิจ เป็นต้น เกี่ยวกับจุลินทรีย์ มีการพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน นำสายพันธุ์จุลินทรีย์สำหรับการผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี
- การนำจุลินทรีย์มาเปลี่ยนวัตถุดิบด้านการเกษตรที่มีราคาถูกเป็นพลังงานทดแทน
- การใช้เชื้อจุลินทรีย์มาใช้สำหรับการกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น แบคทีเรียบีที หรือ ไวรัสเอ็นพีวี และการนำจุลินทรีย์มาใช้ด้านการผลิตพลังงานทดแทน ผลดีที่ตามมา คือ เพิ่มผลกำไรจากการช่วยลดต้นทุนในการผลิต การรักษาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมจากการทำการเกษตรแบบเดิมที่ทำลายธรรมชาติ โดยทำให้การใช้สารเคมีลดลง ทำให้สามารถสร้างพืชและสัตว์พันธุ์ใหม่ได้รวดเร็วกว่าวิธีการแบบดั้งเดิม

เทคนิคที่มีความสำคัญในการศึกษาวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ได้แก่ เทคนิคที่เกี่ยวกับดีเอ็นเอไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อยีน การโคลนยีน การถ่ายยีน เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เทคนิคด้านโมเลกุลเครื่องหมาย เทคนิคที่เกี่ยวกับโปรตีนและเอนไซม์ เป็นต้น


เอกสารอ้างอิง
Ref. http://www.thaibiotech.info/tag/เทคโนโลยีชีวภาพ
ศิริลักษณ์ เอี่ยมธรรม. 2552. พันธุวิศวกรรม : วิธีการและการประยุกต์ใช้. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 284 หน้า