บทความ

งานวิจัยและองค์ความรู้

งานวิจัย เมื่อข้าวทนต่อโรค! แมลง

เมื่อข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วมนานขึ้น
ข้าวพื้นเมืองไทยโดยส่วนใหญ่ในท้องทุ่งที่น้ำท่วมถึง จะเป็นข้าวที่มีการยืดตัวสูงเพื่อให้ใบโผล่พ้นน้ำ หลังจากน้ำลดข้าวเหล่านี้จะมีลำต้นที่ยืดยาวและหักล้ม การเก็บเกี่ยวผลผลิตทำได้ยากและเสียหายง่าย ลักษณะการทนต่อน้ำท่วมดังกล่าวนี้ไม่ค่อยเป็นที่ต้องการของเกษตรกรในเขตนาชลประทาน แต่มีข้าวบางสายพันธุ์จากอินเดียที่มีความสามารถทนอยู่ใต้น้ำเมื่อเกิดสภาวะน้ำท่วมแบบฉับพลันและสามารถยืนหยัดจนกระทั่งฟื้นตัวหลังน้ำลดลง นำไปสู่การออกรวงและให้ผลผลิตในที่สุด ถูกนำมาเป็นพันธุ์ให้ลักษณะทนทานต่อน้ำท่วมในข้าวขาวดอกมะลิ105 ณ ปัจจุบัน

เราได้ปรับปรุงข้าวขาวดอกมะลิให้ทนต่อน้ำท่วมได้นานถึง 21 วัน ในระยะเวลาดังกล่าวถ้าน้ำลดลง ต้นข้าวสามารถฟื้นตัวและออกรวงให้ผลผลิตได้เช่นเดียวกับสภาพปกติ นับเป็นความหวังของเกษตรกรไทยในยุคที่ปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

 

ข้าวขาวดอกมะลิ 105  ที่ทนต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นแมลงศัตรูธรรมชาติที่สำคัญที่ทำให้ผลผลิตข้าวลดต่ำลงทั้งในเขตนาน้ำฝนและนาชลประทาน การปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีความต้านทานต่อแมลงดังกล่าวเป็นเป้าหมายระดับต้นของโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวของประเทศไทยและในอีกหลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่ามีอย่างน้อยสองยีนต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพันธุ์ ABHAYA ซึ่งสองยีนนั้นอยู่บนโครโมโซมที่ 6 และ 12 ข้อมูลดังกล่าวทำให้สามารถเลือกใช้โมเลกุลเครื่องหมายสำหรับช่วยในการคัดเลือกความต้านทานได้ถูกต้อง อันจะนำไปสู่การปรับปรุงพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ และร่นระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวลง

  

การปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ให้ต้านทานโรคขอบใบแห้ง

โรคขอบใบแห้ง (bacterial leaf blight, BLB) เกิดจากเชื้อสาเหตุ Xanthomonas oryzae pv. oryzae เป็นโรคที่สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตข้าวอย่างมาก อาจทำให้ผลผลิตลดลงได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โรคนี้มักพบระบาดในเขตที่น้ำท่วมหรือบริเวณที่ลุ่ม ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวคุณภาพดีแต่มีความอ่อนแอต่อโรคหลายชนิดที่สำคัญคือโรคขอบใบแห้ง

 

ขาวดอกมะลิ 105 กับความทนแล้ง

ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของไทย เกษตรกรแถบนี้จะอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติในการเพาะปลูก โดยเริ่มปลูกในราวเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวราวเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งในแต่ละปีมักประสบปัญหาความไม่แน่นอนของปริมาณและการกระจายตัวของฝน จึงเกิดสภาพน้ำท่วมและฝนแล้งเป็นประจำ ทั้งนี้ความแห้งแล้งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระยะของการเพาะปลูก คือต้นฤดู กลางฤดูหรือปลายฤดูปลูก หรือถ้าปีไหนแล้งจัดก็อาจจะแห้งแล้งทั้งต้นและปลายฤดูปลูกเป็นต้น ซึ่งการเกิดสภาวะแล้งในระยะที่ข้าวกำลังออกรวงนั้นทำให้ผลผลิตข้าวลดลงอย่างมาก ซึ่งในปีที่แล้งจัดเกษตรกรอาจจะไม่ได้ผลผลิตข้าวเลย จึงจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงขาวดอกมะลิให้สามารถเจริญเติบโต และให้ผลผลิตได้แม้อยู่ภายใต้สภาพแล้ง

บทความล่าสุด

ข่าวประชาสัมพันธ์

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้ เพื่อให้ท่านได้รับการใช้งานเว็บไซต์ที่ดี แสดงผลได้ถูกต้อง หากคุณใช้งานเว็ปไซต์ของเราต่อถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้


© RICE SCIENCE CENTER, KASETSART UNIVESITY KAMPHAENG SAEN CAMPUS

เลขที่ 1 หมู่ที่ 6 ตำบล กำแพงแสน อำเภอ กำแพงแสน จังหวัด นครปฐม 73140 ประเทศไทย
ติดต่อแอดมิน anut.su@ku.th


  (+66) 086 479 5603


Free Joomla! templates by AgeThemes