ข้าวเหนียวธัญสิริน Thunya-sirin ต้านทานโรคไหม้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามข้าว “ธัญสิริน” ซึ่งพัฒนาโดยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาข้าวกรมการข้าว และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวต้านทานโรคไหม้ โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐาน จนได้ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับพันธุ์ กข 6 แต่มีความต้านทานโรคไหม้ ซึ่งเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2545 ใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 4 ปี
โดยไบโอเทคและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ดำเนินโครงการ "ถ่ายทอดเทคโนโลยีและติดตามการผลิตเมล็ดพันธุ์ใหม่เพื่อเกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองในชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด ภาครัฐ เอกชนในภาคอีสาน เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวต้านทานโรคไหม้ กข6 ต้นเตี้ย "ธัญสิริน" โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับยีนต้านทานโรคไหม้ และคุณภาพหุงต้มในการคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐานจนได้ข้าวเหนียวที่ปรับตัวได้ดีในพื้นที่นา
ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือไบโอเทค เปิดเผยว่า การพัฒนาข้าวพันธุ์ "ธัญสิริน" ข้าวเหนียว กข6 ที่สามารถต้านทานโรคไหม้ ซึ่งเป็นโรคสำคัญในนาน้ำฝนภาคอีสาน ซึ่งเป็นการทดลองปลูกเพื่อถ่ายทอดเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรในชุมชน โดยมีส่วนร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้ธัญสิรินต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง ต้นเตี้ย หมายเลข 13, 8, 5 ที่เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์แบบการผสมผสานข้ามสายพันธุ์โดยใช้เทคโนโลยี พร้อมกระจายลงพื้นที่ใช้ทดลองปลูก
"เกษตรกรสามารถเลือกได้ว่าควรจะปลูกข้าวอย่างไรให้ได้กำไรในแต่ละปีโดยนักวิจัยให้ข้อมูลและคอยติดตามผลการปลูก ซึ่งข้าวพันธุ์ธัญสิรินของเรามีข้อดี คือ แตกกอได้ดี ลำต้นแข็งแรงไม่ล้มง่าย มีขนาดสูงเฉลี่ย 130 เซนติเมตร สามารถเก็บเกี่ยวได้ง่ายด้วยเครื่องจักร ลดปัญหาการหักล้มได้ผลผลิตสูง คุณภาพหุงต้มอยู่ในระดับดี"
ดร.ธีรยุทธรเผยต่อว่า สำหรับการจัดทำแปลงเกษตรเพื่อสาธิตเพื่อการปลูกทดสอบข้าวนั้นจะมีการบึกทึกข้อมูลและเก็บข้อมูล ประเมินสายพันธุ์ข้าว เพื่อคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้การพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรเข้มแข็ง โดยใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ในชุมชน
ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา หัวหน้าโครงการ กล่าวเสริมว่า ไบโอเทค เริ่มดำเนินโครงการโดยนำข้าวเหนียว 2 สายพันธุ์ใหม่ไปทดสอบปลูกทดสอบในพื้นที่ภาคอีสาน คือ ธัญสิริน ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งได้รับความพึ่งพอใจจากเกษตรกร แต่สำหรับบางพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไหม้ขอบใบแห้ง พื้นที่โล่ง ลมแรง ทำให้ผลผลิตเสียหายและเนื่องจากปัญหาดังกล่าว ต่อมาในปี 2556 ไปโอเทค จึงได้พัฒนา "ข้าวกข 6 ธัญสิริน ต้นเตี้ย ต้านทาน
โรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง" ขึ้น โดยนำไปทดลองปลูกในหลายพื้นที่ภาคอีสาน เช่น อ.เต่างอย อ.เจริญศิลป์ และอ.คำตากล้า จ.สกลกนคร ส่วนนอกนั้นก็กระจายกันไปในแต่ละพื้นที่ อ.รัตนวาปี อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย และ อ.เมือง จ.บึงกาฬ "เป็นข้าวนาปีที่มีความไวต่อแสงมีลักษณะเด่นคือสามารถต้านทานต่อโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง มีขนาดลำต้นแข็ง สูงเฉลี่ย 130 เซนติเมตร ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย เมล็ดเรียวยาว ผลผลิตเฉลี่ย 700-800 กิโลกรัมต่อไร่"
อนงค์ลักษณ์ ใยพันธ์ เกษตรกรแปลงข้าวตัวอย่าง ยอมรับว่าการเข้าร่วมโครงการปลูกข้าว กข 6 ธัญสิริน ต้านโรคไหม้และโรคใบขอบแห้ง เป็นการทำนาแบบใช้อินทรีย์ผสมเทคโนโลยีในการเพาะปลูกข้าว ทำให้ได้ผลิตที่สูงและสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้ในฤดูการทำนาของแต่ละปีได้ ซึ่งผลผลิตแต่ละปีส่งเข้าศูนย์ข้าวชุมชนเพื่อส่งขายให้แก่สมาชิกได้ทำการเกษตรต่อไป
การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว "ธัญสิริน" นับเป็นการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อชุมชน อีกทั้งเพิ่มบทบาทของเกษตรกร โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
|