เมื่อวันที่ 16 มี.ค.64 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีรับมอบทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์กัญชงที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย สามารถให้ดอกที่มีปริมาณสาร Cannabinoid : CBD สูงสุด และเพื่อร่วมสนับสนุนโครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศกัญชงและสมุนไพร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
โดยนายชนินทร์ เฮ้งเจริญสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท หนองคายเพาเวอร์ดริ๊งก์ (เครื่องดื่มดับเบิ้ลซี) จำกัด บริษัท โกลกรีน เวลเนส กรุ๊ป จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร มีความประสงค์มอบทุนสนับสนุนการวิจัย 10 ล้านบาท ให้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อมอบให้นักวิจัย ศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชษฐ อนุรักษ์อุดม และคณะห้องปฏิบัติการวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ดำเนินการวิจัยตามวัตถุประสงค์ต่อไป เพื่อพัฒนานำไปใช้ประโยชน์ภาคอุตสาหกรรม นำกัญชงไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ โอกาสนี้ ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม เข้าร่วมในพิธีรับมอบด้วย
เมื่อปลดล็อก “กัญชง” ถือว่าก้าวกระโดดอย่างมาก ทางคณะวิจัยจะนำ “กัญชง”จากอเมริกาและเนเธอแลนด์ ประมาณ 10 สายพันธุ์ มาปรับปรุงสายพันธุ์ใหม่ให้เหมาะกับภูมิอากาศ ภูมิประเทศของไทย เพราะ “สายพันธุ์กัญชง” ในต่างประเทศ จะเป็นต้นเตี้ยๆ เติบโตในภูมิอากาศที่หนาว และในพื้นที่ต่างประเทศจะไม่มีแมลง แตกต่างจากพื้นที่ในประเทศไทย อากาศร้อน มีแมลงมาก
“นักวิจัยจะทำการโคลนนิ่งพันธุ์กัญชง เพื่อให้เกิดการขยายเมล็ดพันธุ์อย่างรวดเร็ว โดยใช้กระบวนการทางวิจัย และหลังจากนั้นจะเลือกสายพันธุ์ที่ปรับตัวได้ เข้ากับรูปแบบการเกษตรของไทย เพื่อนำไปปลูกในช่วงพืชหลังนา อายุต้องสั้น ออกดอกเร็ว และต้องมีCBD ที่สูงมากกว่า THC มากๆ ซึ่งห้องปฎิบัติการกัญชง ตอนนี้กค้นพบว่าเป็นสายพันธุ์อะไรในต่างประเทศที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับที่ต้องการ” ศ.ดร. อภิชาติ วรรณวิจิตร กล่าว
นอกจาก นั้นมีการใช้เทคนิคการอาบรังสี ซึ่งเป็นเทคนิคที่เรามีความชำนาญ และได้ผลที่ดี อย่าง การทำข้าวสรรพสี การกระตุ้น(Induced mutation) โดยใช้กัมมันตภาพรังสี การใช้สารเคมีก่อการกลายพันธุ์ หรือ พันธุวิศวกรรม เป็นต้น ก็จะนำเทคนิคเหล่านี้มาใช้ในการปรับปรุงสายพันธุ์กัญชง ในครั้งนี้ร่วมด้วย
- อ่านข่าวบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ที่
https://www.thansettakij.com/content/business/472375
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/927638
https://www.pptvhd36.com/news/