ข่าวประชาสัมพันธ์

รางวัลทะกุจิ และ ผู้สมควรให้ปาฐกถาอายิโนะโมะโต๊ะ ประจำปี 2556

คุณวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย และ รศ. ดร. อภิชาติ วรรณวิจิตร ได้รับรางวัลทะกุจิ ประเภทนักวิจัยดีเด่น และผู้สมควรให้ปาฐกถาอายิโนะโมะโต๊ะ ประจำปี 2556 ตามลำดับ จากสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย โดยพิธีมอบรางวัลดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2556 ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพมหานคร
 
 
คุณวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย นักวิจัยหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง ได้รับรางวัลทะกุจิ ประเภทนักวิจัยดีเด่น จากผลงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคนิคแลมป์เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคในสัตว์น้ำเศรษฐกิจและทางการแพทย์
 
 
 
เทคนิคแลมป์ หรือ Loop-mediated isothermal amplification เป็นเทคนิคที่สามารถเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมในหลอดทดลองที่มีความไว รวดเร็ว และความจำเพาะสูง ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้สำหรับการวินิจฉัยเชื้อก่อโรคได้ทั้งในคนและสัตว์ แต่การอ่านผล LAMP ยังมีขั้นตอนยุ่งยากและใช้เครื่องมือราคาแพง คุณวรรณสิกาและคณะจึงได้พัฒนาเทคนิคแลมป์โดยออกแบบไพรเมอร์ และปรับสภาวะ อุณหภูมิเพื่อให้ได้สภาวะที่เหมาะสมและจำเพาะต่อเชื้อที่ต้องการตรวจ และพัฒนาวิธีการอ่านผลการตรวจโดยการประยุกต์ใช้เทคนิคต่างๆ ได้แก่ การประยุกต์ใช้แผ่นจุ่มวัดแบบง่ายที่อาศัยหลักการอิมมูโนโครมาโตกราฟฟีร่วมกับ DNA hybridization การประยุกต์ใช้ตัวตรวจจับดีเอ็นเอที่ติดฉลากอนุภาคทองคำนาโน การใช้สารเคมีที่ทำให้ปฏิกิริยาแลมป์เปลี่ยนสี ตลอดจนการพัฒนาเครื่องมือวัดความขุ่นที่เกิดจากการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมด้วยเทคนิคแลมป์ เป็นต้น การพัฒนาเทคนิคแลมป์ร่วมกับเทคนิคการอ่านผลแบบใหม่ๆ เหล่านี้ทำให้ได้เทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยโรคที่รวดเร็ว แม่นยำ จำเพาะ ราคาถูก และมีความไว (sensitivity) สูงกว่าการตรวจวินิจฉัยแบบเดิมด้วยวิธี PCR นอกจากนี้ เทคนิคที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการวินิจฉัยเชื้อก่อโรคในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น เชื้อไวรัสในกุ้ง เชื้อแบคทีเรียก่อโรคในปลาทับทิม เป็นต้น และสามารถวินิจฉัยเชื้อก่อโรคในมนุษย์ที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุข อาทิ เชื้อวัณโรค เชื้อมาลาเรีย เชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus อีกด้วย ในอนาคต องค์ความรู้นี้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นชุดตรวจโรคใช้เองในประเทศ ลดความเสี่ยงในการส่งออกสินค้าด้อยคุณภาพ นำไปสู่ความเชื่อมั่นทางการค้าส่งออกของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
    
 
 
ทางด้าน รศ. ดร. อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยร่วมระหว่างไบโอเทคและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับรางวัลผู้สมควรให้ปาฐกถาอายิโนะโมะโต๊ะ จากผลงานวิจัยเรื่อง การปรับปรุงพันธุ์พืชในยุคต่อไปกับอนาคตข้าวไทย ซึ่ง รศ. อภิชาติและทีมวิจัยได้นำเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในการศึกษาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทย ผลงานที่โดดเด่นได้แก่ การเข้าร่วมโครงการถอดรหัสจีโนมข้าวนานาชาติ และการค้นพบยีนควบคุมความหอมของข้าวขาวดอกมะลิ เป็นต้น 
 
 
  
รางวัลทะกุจิ และผู้สมควรให้ปาฐกถาอายิโนะโมะโต๊ะ จัดขึ้นโดยสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีชีวภาพ (กองทุนทะกุจิ) และมูลนิธิอายิโนะโมะ เป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานวิจัยดีเด่น นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ที่มีผลงานวิทยานิพนธ์ดีเด่น และภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการศึกษา วิจัย และการประยุกต์ใช้วิทยาการในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และสาธารณสุข ในประเทศไทย
 
 

บทความล่าสุด

ข่าวประชาสัมพันธ์

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้ เพื่อให้ท่านได้รับการใช้งานเว็บไซต์ที่ดี แสดงผลได้ถูกต้อง หากคุณใช้งานเว็ปไซต์ของเราต่อถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้


© RICE SCIENCE CENTER, KASETSART UNIVESITY KAMPHAENG SAEN CAMPUS

เลขที่ 1 หมู่ที่ 6 ตำบล กำแพงแสน อำเภอ กำแพงแสน จังหวัด นครปฐม 73140 ประเทศไทย
ติดต่อแอดมิน anut.su@ku.th


  (+66) 086 479 5603


Free Joomla! templates by AgeThemes