ข่าวประชาสัมพันธ์

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้แจงการจดเครื่องหมายการค้า “ข้าวไรซ์เบอร์รี่” (Riceberry)

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแจงกรณีมีผู้ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าในไทย นำชื่อ “Riceberry” ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ โดยเจ้าของเครื่องหมายการค้าในไทยหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถยื่นคัดค้านหรือขอเพิกถอนการจดทะเบียนได้ 

https://www.ipthailand.go.th/images/633/3064_Final.pdf

 

 

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงกรณีบริษัท แจสเบอร์รี่ จำกัด ได้ยื่นเรื่องไปยัง EUIPO (อียูไอพีโอ :European Union Intellectual Property Office) เพื่อขอจดเครื่องหมายการค้า “RICEBERRY”  ส่งออกข้าวชนิดดังกล่าวไปตลาดยุโรปกว่า 28 ประเทศและเกิดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “Riceberry” ในหลายประเทศของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเจ้าของเครื่องหมายการค้าในไทย ซึ่งเป็นผู้คิดค้นพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ รวมถึงเกษตรกรไทยอีกจำนวนมากนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่าพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่คิดค้นโดย รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560

 

 

 อย่างไรก็ตาม กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “ไรซ์เบอร์รี่” และ “RiceBerry” ให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้ว 4 คำขอ ได้แก่ คำขอเลขที่ 821133 821134 821135 และ 821136 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 ในจำพวก 30 รายการสินค้าข้าว ส่งผลให้ผู้อื่นไม่สามารถนำคำว่า “ไรซ์เบอร์รี่ Rice berry” มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยได้อีก เนื่องจากขัดต่อมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มฯ เพราะเป็นคำที่บรรยายถึงลักษณะของสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับพันธุ์ข้าวและขัดต่อมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เพราะเหมือนคล้ายกับคำขอที่จดทะเบียนไว้แล้วโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

 

 นายทศพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวเกิดปัญหาขึ้นเนื่องจากมีผู้ซึ่งไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าในไทย นำชื่อ “ไรซ์เบอร์รี่ Riceberry” ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ ซึ่งแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ คือ เมื่อมีการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเจ้าของเครื่องหมายการค้าในไทยหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถใช้สิทธิ์คัดค้านการจดทะเบียนได้ และหากเครื่องหมายการค้านั้นได้รับการจดทะเบียนในต่างประเทศแล้ว เจ้าของเครื่องหมายการค้าในไทยหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็สามารถร้องเพิกถอนการจดทะเบียนได้เช่นกัน

 

 “การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวกับข้าวไรซ์เบอร์รี่ในต่างประเทศควรจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายรับรอง ซึ่งการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองต้องมีการยื่นข้อบังคับประกอบคำขอจดทะเบียน  โดยข้อบังคับดังกล่าวเป็นการกำหนดมาตรฐานพันธุ์ข้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการข้าว ประกอบกับต้องมีการกำหนดมาตรฐานในข้อบังคับที่ยื่นขอจดทะเบียน ซึ่งขณะนี้คณะทำงานบริหารจัดการและทำการตลาดสินค้าข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ตั้งขึ้น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวเป็นคณะทำงานด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานเพื่อใช้เป็นข้อบังคับในการรับรองข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ และสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่จะเป็นผู้จดทะเบียนในต่างประเทศจะต้องมีความเชี่ยวชาญและมีความสามารถในการรับรองมาตรฐานพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ได้” นายทศพล กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีที่มีผู้อื่นไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “Riceberry” ในต่างประเทศแล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญายืนยันว่าคนไทยยังสามารถส่งข้าวไรซ์เบอร์รี่สายพันธุ์ไทยไปขายในต่างประเทศได้ เพียงแต่อย่าส่งไปขายภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ผู้อื่นยื่นจดทะเบียนไว้แล้ว.

ที่มา-สำนักข่าวไทย

บทความล่าสุด

ข่าวประชาสัมพันธ์

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้ เพื่อให้ท่านได้รับการใช้งานเว็บไซต์ที่ดี แสดงผลได้ถูกต้อง หากคุณใช้งานเว็ปไซต์ของเราต่อถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้


© RICE SCIENCE CENTER, KASETSART UNIVESITY KAMPHAENG SAEN CAMPUS

เลขที่ 1 หมู่ที่ 6 ตำบล กำแพงแสน อำเภอ กำแพงแสน จังหวัด นครปฐม 73140 ประเทศไทย
ติดต่อแอดมิน anut.su@ku.th


  (+66) 086 479 5603


Free Joomla! templates by AgeThemes