ข่าวประชาสัมพันธ์

ข้าวหอมจินดา ข้าวเจ้าสายพันธุ์ใหม่แข็งแรง ทนโรค

ข้าวหอมจินดา ข้าวเจ้าสายพันธุ์ไทยที่เป็นหนึ่งในโอกาสการแข่งขันของเกษตรกรไทย  มีลักษณะโดดเด่น คือ เมล็ดมีกลิ่นหอม นุ่ม ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ลำต้นแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ต้นสูงปานกลาง 

 

 

ความหลากหลายทางพันธุกรรมเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความสนใจในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยทั่วโลกมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ เนื่องจากผลจากการวิจัยในเรื่องนี้สามารถนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับนานาชาติ

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผลผลิตทางเกษตรกรรมเป็นจำนวนหลายล้านตันต่อปี พืชเศรษฐกิจที่นิยมเพาะปลูกมากที่สุดในประเทศไทยคือ ข้าว อ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นประเด็นที่หน่วยงานภาคเกษตรในประเทศไทย ได้ทุ่มเทความพยายามและเงินทุน เพื่อพัฒนาคุณภาพและผลผลิตให้สูงขึ้น อันนำไปสู่โอกาสทางการแข่งขันในตลาดโลก และเพิ่มเอกลักษณ์ของสินค้าให้มีความน่าสนใจมากขึ้น

พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยที่เพาะปลูกกันทุกภูมิภาคคือ ข้าว ดังนั้นจึงมีหน่วยงานที่วิจัยเกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ทำวิจัยด้านพันธุ์ข้าวมาเป็นเวลากว่า 10 ปี

แปลงทดลองเกษตรกรที่ได้ทดลองปลูกข้าวเจ้าพันธุ์หอมจินดา
ไบโอเทคมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจสำคัญอย่างข้าว เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกร เช่น ข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคา ข้าวเจ้าพันธุ์หอมจินดา ข้าวเจ้าพันธุ์ธัญญา 6401 โดยไบโอเทคทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน ในนการปลูกทดสอบในแปลง และประเมินความพึงพอใจ ร่วมกับเกษตรกร ซึ่งเป็นโมเดลการทำงานที่เปิดโอกาสให้เกษตรกร และผู้บริโภค ได้มีส่วนร่วมคัดเลือกข้าวพันธุ์ดี ที่เหมาะสม เพื่อนำไปขยายผลการปลูกในพื้นที่ต่อไป

ในปี 2564 ไบโอเทคกำลังเตรียม ข้าวหอมจินดา ซึ่งเป็นข้าวเจ้าที่ได้จากการผสมข้ามพันธุ์แบบดั้งเดิมระหว่างข้าวพันธุ์ปทุมธานีเป็นสายพันธุ์แม่ และข้าวสายพันธุ์ RGD07097-1-MAS-8-9-0-0 เป็นสายพันธุ์พ่อ

 

“ลักษณะโดดเด่นของข้าวสายพันธุ์นี้ คือ ลักษณะเมล็ดมีกลิ่นหอม นุ่ม ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ลำต้นแข็งแรง ทนต่อน้ำท่วมฉับพลัน ไม่หักล้มง่าย ต้นสูงปานกลาง ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 838 กิโลกรัมต่อไร่” ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าว

ข้าวเจ้าพันธุ์หอมจินดาอยู่ในระหว่างการทดลองปลูกภายในแปลงทดลองของมูลนิธิรวมใจพัฒนา และปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกร จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่ปี 2562 คาดว่าจะพัฒนาเป็นเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรนำไปเพาะปลูกได้ภายในปีนี้

 

นอกจากนี้ ไบโอเทคยังมีการปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศพันธุ์ใหม่ คือ พันธุ์แดงโกเมน และพันธุ์ซันไชน์ ซึ่งเป็นมะเขือเทศเชอรี่ หวานกรอบ ผลดก ต้านทานโรคใบหงิกเหลือง ให้ผลผลิตสูง ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชกับกรมวิชาการเรียบร้อยแล้ว โดยมีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการถ่ายทอดพันธุ์ให้แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปต่อยอดในเชิงการค้า และถ่ายทอดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรเพื่อใช้ในการผลิตผลสดต่อไป

ในส่วนของผลิตภัณฑ์จากไบโอเทคที่พัฒนาร่วมกับบริษัทเอกชน และใช้งานได้จริงแล้ว ดร.วรรณพ กล่าวว่า ไบโอเทค มีการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ภาคเอกชนมากมาย อาทิ ผลิตภัณฑ์ eLysozyme ชนิดใหม่สำหรับอุตสาหกรรมอาหารกุ้ง โดยทำงานร่วมกับ บริษัทโอโว่ ฟู้ดเทค จำกัด และบริษัทดีเอ็มเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด

ผลิตภัณฑ์เบตากลูแคนและยีสต์โพรไบโอติกสำหรับปศุสัตว์ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัทเอเชียสตาร์ เทรด จำกัด ผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมัก (น้ำมังคุด น้ำสับปะรด น้ำตาลมะพร้าว กระเทียมดำ) โดยทำงานร่วมกับ บริษัทเอแอนพี ออร์ชาร์ด 1959 จำกัด บริษัทซินอาบริว จำกัด บริษัทไทยอุดมอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด บริษัทนพดาโปรดักส์ จำกัด

และอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจคือ โปรตีนทางเลือกใหม่จากเห็ด ซึ่งทำงานร่วมกับกลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง (น้ำตาลลิน) เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดการลงทุนรวมกว่า 180 ล้านบาท สามารถสร้างรายได้ตลอดจนลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก

ในอนาคตการแข่งขันเรื่องการเกษตรและอาหารจะเน้นไปที่เรื่อง “สารอาหารสำคัญ” ดังนั้น หากเราสามารถเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับความต้องการที่เกิดขึ้น เราก็สามารถขีดความสามารถเรื่องการแข่งขันให้กับเกษตรกรไทยได้ ดร.วรรณพ กล่าวปิดท้าย

 

เรื่อง : ณภัทรดนัย  ภาพถ่าย : ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.  (https://www.biotec.or.th)
ภาพบทความฉบับเต็ม และบทความอื่น ๆ น่าสนใจที่
https://ngthai.com/science/33782/homjinda

บทความล่าสุด

ข่าวประชาสัมพันธ์

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้ เพื่อให้ท่านได้รับการใช้งานเว็บไซต์ที่ดี แสดงผลได้ถูกต้อง หากคุณใช้งานเว็ปไซต์ของเราต่อถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้


© RICE SCIENCE CENTER, KASETSART UNIVESITY KAMPHAENG SAEN CAMPUS

เลขที่ 1 หมู่ที่ 6 ตำบล กำแพงแสน อำเภอ กำแพงแสน จังหวัด นครปฐม 73140 ประเทศไทย
ติดต่อแอดมิน anut.su@ku.th


  (+66) 086 479 5603


Free Joomla! templates by AgeThemes