ข่าวประชาสัมพันธ์

นักวิจัยข้าวพันธุ์ใหม่ทนน้ำ,ดินเค็ม,แล้งเตรียมจดสิทธิบัตร์

     สวทช.จับมือกรมการข้าว พัฒนา "พันธุ์ข้าวต้านโรคทนสภาพแวดล้อม" รับมือภาวะโลกร้อน สภาพอากาศแปรปรวน เผยเตรียมจดสิทธิบัตรรับรอง 3 พันธุ์ข้าวชนิดใหม่ของไทย ได้แก่ ข้าวทนน้ำท่วมฉับพลัน ข้าวทนดินเค็ม และข้าวต้านโรคไหม้ ตั้งเป้าภายใน 5 ปีจะมีข้าวพันธุ์ใหม่ของโลกเกิดขึ้น

     เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดพิธีลงนามความร่วมมือภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวนาน้ำฝนระยะ ที่ 2 เพื่อให้ข้าวมีความต้านทานต่อโรค แมลง และสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยข้าวศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวนาน้ำฝนจนเกิดเป็น 3 สายพันธุ์ใหม่ ได้แก่ สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วมฉับพลัน สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ทนดินเค็ม และสายพันธุ์ กข.6 ต้านทานโรคไหม้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นขอรับรองพันธุ์จากกรมการข้าว โดยคาดว่าจะได้ในเดือนกันยายน 2553 พร้อมทั้งจะดำเนินการจดสิทธิบัตรข้าวสายพันธุ์ใหม่ของโลกกับกระทรวงเกษตรฯ ภายในระยะเวลา 5 ปีจากนี้ไป ดร.ธีรยุทธ กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาพันธุ์ข้าวนาน้ำฝนระยะที่ 2 นี้ จะร่วมกันยกระดับพันธุ์ข้าวทั้ง 3 สายพันธุ์ให้มีคุณสมบัติสมบูรณ์แข็งแรงมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และรับมือภาวะโลกร้อนซึ่งที่ผ่านมาข้าวไทยในหลายพื้นที่ประสบปัญหาข้าวเป็นหมัน ข้าวไม่ติดเมล็ด หรือต้องประสบกับโรคชนิดใหม่ๆจึงได้นำเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วย โดยไม่ใช้กระบวนการตัดต่อพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ ซึ่งจะทำให้ร่นระยะเวลาพัฒนาพันธุ์ข้าวจาก 10 ปี เหลือ 5 ปีเท่านั้น รวมทั้งยังช่วยเพิ่มผลผลิตให้มีประสิทธิภาพมาก

"ความร่วมมือดังกล่าวอาจจะทำให้รูปแบบของเมล็ดพันธุ์เปลี่ยนไปจากเดิม บ้างเล็กน้อย แต่จะมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และที่สำคัญจะช่วยเสริมศักยภาพการส่งออกและแข่งขันกับต่างประเทศได้" นักวิจัยข้าวจากไบโอเทคกล่าว

 

ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า การร่วมมือกันทำงานในเชิงบูรณาการทั้งสองหน่วยงาน จะช่วยให้การวิจัยและพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวไทยให้เกิดความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร ความร่วมมือครั้งนี้จะมีการสนับสนุนด้านบุคลากร ห้องปฏิบัติการ ครุภัณฑ์และงบประมาณ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลการวิจัย การถ่ายทอดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศ และจะนำไปสู่การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ต่อไป

นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเสริมว่า 

งานวิจัยหลักการผลิตข้าว คือการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้คงทนต่อสภาพแวดล้อม ที่ผ่านมากรมการข้าวประสบผลสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีปกติ (Conventional breeding) ในปี พ.ศ.2549-2552 กรมการข้าวและ สวทช.ร่วมมือทำงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วย ทำให้เกิดข้าวพันธุ์ใหม่ 3 ชนิดที่อยู่ระหว่างเสนอขอรับรองพันธุ์ โดยจุดเด่นของกรมการข้าวคือ โครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรเพื่อรองรับการวิจัยในสภาพแปลงทดลอง ขณะที่ สวทช.มีจุดเด่นในด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกี่ยวกับการสืบค้นหายีนและการพัฒนา โมเลกุลเครื่องหมายดีเอ็นเอ ที่นำไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการผลิตข้าวไทย.

 

 ที่มา ไทยโพส

บทความล่าสุด

ข่าวประชาสัมพันธ์

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้ เพื่อให้ท่านได้รับการใช้งานเว็บไซต์ที่ดี แสดงผลได้ถูกต้อง หากคุณใช้งานเว็ปไซต์ของเราต่อถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้


© RICE SCIENCE CENTER, KASETSART UNIVESITY KAMPHAENG SAEN CAMPUS

เลขที่ 1 หมู่ที่ 6 ตำบล กำแพงแสน อำเภอ กำแพงแสน จังหวัด นครปฐม 73140 ประเทศไทย
ติดต่อแอดมิน anut.su@ku.th


  (+66) 086 479 5603


Free Joomla! templates by AgeThemes