รศ.ดร. อภิชาติ วรรณวิจิตร
ได้รับรางวัล บุคคลดีเด่นของชาติ ประจำพุทธศักราช ๒๕๕๕ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รองศาสตราจารย์อภิชาติ วรรณวิจิตร อาจารย์ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ( ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว และหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว)ได้นำทีมนักวิจัยไทยเข้าร่วมถอดรหัสจีโนมข้าวของนักวิจัยไทยร่วมกับอีก ๑๐ ประเทศ ในโครงการถอดรหัสจีโนมข้าวนานาชาติ (The International Rice Genome Sequencing Project;IRGSP) และได้นำจีโนมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการค้นหายีนและปรับปรุงพันธุ์ข้าว ให้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและ เพื่อแต่งเติมลักษณะใหม่ลงไปในพันธุ์ข้าวหอมมะลิได้อย่างแนบเนียน เทคโนโลยีดังกล่าวประกอบด้วยพัฒนาการที่สำคัญ คือ การใช้ยีนที่ควบคุมการสร้างสารหอม 2-acetyl-1-pyrroline (2AP) ในระดับสูง ซึ่งถูกค้นพบและจดสิทธิบัตรเป็นครั้งแรกของโลก การวางแผนที่เพื่อทราบตำแหน่งที่ตั้งของกลุ่มยีนที่ควบคุมลักษณะเป้าหมายทุกชิ้นก่อนการปรับปรุงพันธุ์ จากจุดดังกล่าวทำให้มีการปรับปรุงฐานพันธุกรรมข้าวขาวดอกมะลิให้ทนน้ำท่วม และต่อมาให้ต้านทานต่อโรค-แมลง และอื่นๆ โดยคงคุณสมบัติความเป็นข้าวหอมมะลิของไทยเอาไว้อย่างสมบูรณ์โดยไม่ได้ใช้วิธีการแบบตัดแต่งพันธุกรรม ดังจะเห็นได้จากจำนวนพันธุ์ข้าวหอมใหม่ๆ ที่มีผลผลิตสูงและต้านทานโรคแมลงมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิที่เป็นข้าวหอมเอกลักษณ์ที่มีชื่อเสียงก้องโลก
ปัจจุบันมีข้าวหอมมะลิ ๘๐ (ทนน้ำท่วม) ข้าวขาวดอกมะลิที่ทนต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคขอบใบแห้ง และทนน้ำท่วม พร้อมกันทั้ง ๓ ลักษณะ (หอมมะลิ ๘๔) ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เพราะข้าวขาวดอกมะลิเป็นข้าวที่ไวต่อช่วงแสง จึงถูกจำกัดการออกดอกอยู่ในช่วงวันสั้น ดังนั้นการสูญเสียข้าวจากการระบาดของโรคจะทำให้ชาวนา ไม่มีโอกาสผลิตข้าวหอมมะลิได้ทั้งปี การส่งออกของไทยจะถูกกระทบอย่างใหญ่หลวง ดังนั้นเทคโนโลยีดังกล่าว จึงเป็นผลสำเร็จของวงการเกษตรไทยบนเวทีข้าวโลก การค้นพบยีนความหอมของข้าว นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยเพราะเป็นการพบครั้งแรกในโลกทำให้เกิดความตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อการปรับปรุงพันธุ์ข้าว การค้นพบยีนความหอมได้กระตุ้นให้นักวิจัยไทยและทั่วโลกกลับมาศึกษาการทำงานและควบคุมความหอมในข้าวและพืชอื่นๆ อย่างกว้างขวาง
รองศาสตราจารย์อภิชาติ วรรณวิจิตร เป็นนักวิจัยที่สามารถผสมผสานเทคโนโลยีชีวภาพกับการปรับปรุงพันธุ์ข้าวทีเป็นเอกลักษณ์ของชาติมีความรู้ ความสามารถและมีความวิริยะ อุตสาหะ อุทิศเวลาให้กับการค้นคว้าวิจัยอย่างเต็มที่และต่อเนื่องได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในทางวิชาการและการพัฒนาประเทศถือเป็นแบบอย่างนักวิจัยที่น่ายกย่อง ผลงานของรองศาสตราจารย์อภิชาติ วรรณวิจิตร เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการ เกษตรกร และผู้บริโภคอย่างกว้างขวางเป็นผู้นำงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพของข้าวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ นับได้ว่าท่านเป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว