สรุปงานเสวนา เรื่อง “การปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ธัญสิรินในพื้นที่จังหวัดหนองคายและบึงกาฬ” วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556 ณ ห้องประชุมร่มไทร องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย
เวลา 9.00–9.30 น. เกษตรกรผู้เข้าร่วมงานเดินทางมาลงทะเบียน โดยมีทั้งเกษตรที่ได้รับเมล็ดพันธุ์ข้าวธัญสิรินเมื่อปีที่แล้ว และเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้ จากจังหวัดหนองคายและจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมงานทั้งสิ้น 60 คน
เวลา 9.30 น. คุณสมคิด บรรณารักษ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย กล่าวเปิดงาน หลังจากเปิดงาน ก็เริ่มพูดในหัวข้อแรก ปัญหาและอุปสรรคในการปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ธัญสิริน เริ่มจากการดูวิดีโอ ไอน์สไตน์กับผู้ใหญ่ลี ตอน ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ "ธัญสิริน" ต้านทานโรคไหม้ (ภาพที่ 3) จากนั้นก็พูดคุยซักถามเกษตรกรที่ปลูกข้าวพันธุ์ธัญสิรินเมื่อฤดูนาปีที่แล้ว เกษตรกรบางรายมีปัญหาในการถอนกล้าไปปักดำ บางรายถอนกล้ายาก บางรายอยากได้ต้นที่มีความสูงลดลงอีก 30 เซนติเมตรจากความสูงของธัญสิริน แต่ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาในการปลูกข้าวพันธุ์นี้ เนื่องจากลำต้นแข็ง ต้นไม่ล้ม ไม่เป็นโรคไหม้ เก็บเกี่ยวง่าย
การยอมรับพันธุ์และการกระจายพันธุ์ข้าวเหนียวธัญสิริน เกษตรกรที่จังหวัดหนองคายส่วนใหญ่ยอมรับข้าวพันธุ์นี้ เนื่องจากผลผลิตดี (ประมาณ 650-800 กิโลกรัม/ไร่) เมื่อเปรียบเทียบกับข้าว กข6 ซึ่งมีผลผลิตประมาณ 500 กิโลกรัม/ไร่ เนื่องจากลำต้นแข็ง ไม่หักล้ม เก็บเกี่ยวง่าย และไม่เป็นโรคไหม้ หุงชิมแล้วอ่อนนุ่ม เหมือน กข6 สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวแล้ว ส่วนใหญ่จะแจกให้กับญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านบริเวณใกล้เคียง มีเกษตรกรบางรายที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในราคากิโลกรัมละ 20-25 บาท
สำหรับจังหวัดบึงกาฬ นำเมล็ดพันธุ์ไปให้กับสำนักงานเกษตรอำเภอบึงกาฬ โดยดำเนินการในศูนย์ข้าวชุมชนบ้านนาคำ ตำบลโคกก่อง จำนวน 20 ราย ในระยะแรกมีปัญหาในการยอมรับ จึงกระจายเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกร 4 คน (ได้รับเมล็ดพันธุ์ 30 กิโลกรัม/คน) ข้าวธัญสิรินระยะกล้ามีสีเขียวเข้ม การถอนต้นกล้าง่าย ไม่พบการระบาดของโรคไหม้ในระยะกล้า การแตกกอดีกว่า ความสูงขึ้นกับสภาพพื้นที่ และการใช้ปุ๋ย (สูงใกล้เคียงกับ กข6) ไม่หักล้ม ผลผลิตได้ 650 กิโลกรัม/ไร่ ที่ความชื้น 14% มากกว่า กข6 (ผลผลิต 480 กิโลกรัม/ไร่) เก็บเกี่ยวเร็วกว่า กข6 1 อาทิตย์ สีได้ข้าวเต็มเมล็ด การเก็บเกี่ยวจ้างแรงงานได้ เนื่องจากเก็บเกี่ยวไม่พร้อมกับ กข6 ข้าวไม่ล้ม พบเมล็ดสีฟาง (คล้ายข้าวเจ้า ซึ่งเกิดจากความชื้นของเมล็ดข้าว) ทางศูนย์ข้าวชุมชนรับซื้อเมล็ดพันธุ์คืนจำนวน 3 ตัน และรวบรวมจำหน่ายต่อในเกษตรกรรายอื่นๆที่สนใจในตำบลโคกก่อง มียอดสั่งจองจำนวนมาก แต่สามารถซื้อคืนและจำหน่ายได้แค่ 3 ตันเท่านั้น ช่วงบ่าย เป็นการสอนเรื่องการใช้เทคโนโลยีจุลินทรีย์ (น้ำหมัก) เพิ่มผลผลิต ลดค่าใช้จ่ายในการใช้สารเคมีและวิธีการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ โดยการตรวจสอบความบริสุทธิ์ ตรวจสอบความชื้น และตรวจสอบความงอกของเมล็ดพันธุ์ เพื่อเตรียมเมล็ดพันธุ์ไว้สำหรับใช้ในฤดูนาปีที่จะถึง
ข้อซักถามจากเกษตรกร
1. การปลูกข้าวต้นเดียว กับการปลูกข้าวหลายต้น อย่างไรให้ผลผลิตมากกว่ากัน
ตอบ การปลูกข้าวต้นเดียว ข้าวจะแตกกอได้มากขึ้น (อาจมากถึง 42 ต้น ขึ้นกับสภาพดิน) การปลูกข้าวต้นเดียวจะให้ผลผลิตสูงมากกว่าการปลูกข้าวหลายต้นอย่างน้อย 10% และใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวน้อยกว่าการปลูกข้าวหลายต้น ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวหลายต้น เนื่องจากกลัวหอยกัดทำลายข้าว แต่จริงๆแล้ว การปลูกข้าวหลายต้น จะทำให้มีร่มเงา ซึ่งเป็นที่อยู่ของปูและหอยที่มากัดทำลายข้าว
2. การปักดำ ควรใช้ต้นกล้าอายุเท่าไหร่จึงจะดี
ตอบ การปลูกข้าวแบบประณีต ควรพิจารณาจากจำนวนใบ 3-5 ใบ ต้นกล้าสีเขียวเข้ม แข็งแรง ไม่เป็นโรค ถอนแล้วรากไม่ขาดง่าย จึงจะแตกกอดี ต้นกล้าที่มีอายุมาก จำนวนใบเกิน 5 ใบแล้ว การแตกกอจะลดลง
3. การทำนาวิธีไหนให้ผลผลิตสูงที่สุด ระหว่าง นาหว่าน นาโยน และปักดำ
ตอบ นาดำ จะใช้แรงงานมาก ข้าวแตกกอมาก ให้ผลผลิตดี ใช้เมล็ดพันธุ์น้อย (ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 1-3 กิโลกรัม/ไร่) นาหว่าน ใช้แรงงานน้อย ข้าวแตกกอน้อย จึงจำเป็นต้องใช้เมล็ดพันธุ์มาก (ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 30 กิโลกรัม/ไร่) สิ้นเปลืองค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย และค่ากำจัดวัชพืช (ค่าแรงงานน้อย) นาโยน เพาะกล้าในกะบะแล้วโยน เพื่อประหยัดแรงงานปักดำ ควรโยนต้นกล้าเพียง 25,600 ต้น/ไร่ ขึ้นกับความเชี่ยวชาญในการโยน ให้ได้ระยะห่างที่เหมาะสม
4. การเก็บพันธุ์ข้าว 2-3 ปี แล้วข้าวกลายพันธุ์ หากเก็บเมล็ดพันธุ์ดีๆ จะเกิดการกลายพันธุ์หรือไม่
ตอบ หากควบคุมคุณภาพการปลูกและการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว (เก็บเกี่ยวพันธุ์ปนทุกระยะ) จะสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้นานหลายปี (หากมีเมล็ดปน 1 เมล็ด จะทำให้เกิดพันธุ์ปนในฤดูต่อไป 2,000 เมล็ด/ต้น) แต่เกษตรกรบางรายทำการเก็บเมล็ดไว้ใช้เอง แต่ไม่ได้เกี่ยวพันธุ์ปนทิ้ง จะทำให้มีข้าวปนในแปลง ซึ่งเกษตรกรเข้าใจผิดว่าข้าวกลายพันธุ์ จึงต้องทำการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวทุก 3 ปี โดยซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ในราคากิโลกรัมละ 20-25 บาท