เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 พลเอก ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผุ้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ตัวแทนปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีเปิด ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เอกลักษณ์ดีเอ็นเอข้าวไทยเพื่อการส่งออก และแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “แนวทางการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย” โดยมี รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวต้อนรับ รองศาสตราจารย์ ดร. อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ พร้อมด้วยผู้บริหาร คณบดี ผู้อำนวยการ สำนัก อาจารย์ นักวิจัย เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดห้องปฏิบัติการฯในครั้งนี้ด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยหน่วยปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี และศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวได้ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพข้าวให้กับกระทรวงพาณิชย์มาเป็นระยะเวลากว่า 13 ปี แล้ว ซึ่งได้รับความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในการตรวจสอบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มากกว่า 40,000 ตัวอย่าง และมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์เอกลักษณ์ดีเอ็นเอข้าวไทยและข้าวจากประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่มีโอกาสปลอมปนข้าวส่งออกของไทย อันจะนำไปสู่การพัฒนาเป็น ศูนย์ตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ของข้าวและตรวจพิสูจน์มาตรฐานคุณภาพข้าวแห่งชาติ ในอนาคต
ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เอกลักษณ์ดีเอ็นเอข้าวไทยเพื่อการส่งออก
DNA PROFILING LABORATORY FOR THAI RICE EXPORT
ข้าวหอมมะลิไทย (Thai Hommali Rice) เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นข้าวที่มีกลิ่นหอม เม็ดข้าวนุ่ม ทานอร่อย เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากที่สุดในโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมในตลาดโลกกว่ากึ่งหนึ่ง ข้าวหอมมะลิไทย มีราคาสูงกว่าข้าวขาวปกติ 100 % กว่าเท่าตัวในตลาดโลก ทำให้เกิดปัญหาสำคัญ คือ การปลอมปนข้าวสาร ปัญหาดังกล่าวได้ทำให้เกิดการสูญเสียภาพพจน์การค้าข้าวของประเทศไทย การปลอมปนข้าวอาจเกิดขึ้นทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา โดยสามารถเกิดขึ้นในหลายขั้นตอนของการผลิตข้าว ตั้งแต่ การปลอมปนหรือปนเปื้อนพันธุ์ข้าวก่อนปลูก, การปลอมปนเมล็ดข้าวเปลือกในขณะเก็บเกี่ยวหรือในกระบวนการของโรงสี กระทรวงพาณิชย์จึงได้กำหนดข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข.15 เป็นสินค้ามาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย โดยต้องมีปริมาณความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 92
เพื่อให้มีห้องปฏิบัติการที่สามารถให้บริการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์ข้าวโดยเอกลักษณ์ดีเอ็นเอ ให้กับสำนักงานมาตรฐานสินค้า กรมการค้าต่างประเทศ เป็นการเฉพาะในลักษณะห้องปฏิบัติการอ้างอิง (Reference Laboratory) มหาวิทยาลัยเกษตร-ศาสตร์จึงจัดตั้ง” ห้องปฏิบัติการเฉพาะทางเพื่อวิเคราะห์เอกลักษณ์ดีเอ็นเอข้าวไทยเพื่อการส่งออก”ขึ้น โดยใช้เทคโนโลยี KASP SNPline Super high throughput เพื่อตรวจสอบความบริสุทธิ์สายพันธุ์และสืบทราบถึงข้าวหอมจากประเทศเพื่อนบ้านที่อาจเป็นคู่แข่งของข้าวหอมมะลิได้โดยดำเนินการในลักษณะ “โครงการภายใต้ความร่วมมือของกรมการค้าต่างประเทศกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”