บทความ

งานวิจัยและองค์ความรู้

อนุมูลอิสระ คือ อะไร? ทำไมต้องสารต้านอนุมูลอิสระ

 

รศ.ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย1, รศ.ดร.ริญ เจริญศิริ1, ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร2,ดร.ศิริพัฒน์ เรืองพยัคฆ์2
1 สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล 
2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

 

  

อนุมูลอิสระ (Free Radical) คือ โมเลกุลหรืออะตอมที่ไม่เสถียรเนื่องจากขาด อิเลกตรอน ซึ่งโดยปกติในร่างกายของเรามีโมเลกุลหรืออะตอมที่มีอิเลคตรอนอยู่เป็นจำนวนคู่ ในกรณีที่ร่างกายมีการสูญเสียอิเลคตรอนจากการถูกอนุมูลอิสระแย่งจับ จะทำให้โมเลกุลของเซลล์ในร่างกายไม่เสถียร ขาดความสมดุล ซึ่งส่งผลทำให้เซลล์ร่างกายเสียหายได้

 

 

อนุมูลอิสระมาจากไหน

แหล่งภายนอก ได้แก่ มลพิษในอากาศ โอโซน ไนตรัสออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ฝุ่น ควันบุหรี่ อาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว  แสงแดด ความร้อน รังสีแกมม่า และแหล่งภายใน ได้แก่อนุมูลอิสระที่ร่างกายสร้างขึ้น 
ตัวอย่างของอนุมูลอิสระ ได้แก่

  •  O2- Superoxide anion อนุมูลซุปเปอร์ออกไซด์
  •  OH- Hydroxyl radicle อนุมูลไฮดรอกซิล
  •  ROO Peroxy radicle อนุมูลเปอร์ออกซี
  •  H2O2 Hydrogen Peroxide ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
  •  Lipid Peroxyl, LO2   ลิปิดเปอร์ออกซี

 

 

 

อนุมูลอิสระเข้าไปทำลายเซลล์ได้อย่างไร

อนุมูลอิสระเข้าไปทำลายเซลล์ เมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตหรือได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพียงพอที่จะไปยับยั้งหรือไปจับอนุมูลอิสระได้ภายในเซลล์ของร่างกาย ผลคือทำให้เซลล์เกิดความเสียหายและนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง หัวใจและหลอดเลือด แก่ก่อนวัย ต้อกระจก และโรคอื่นๆ เช่น อนุมูลอิสระไปทำลายผนังหลอดเลือดแดง และเมื่อมีไขมันไปสะสมอยู่ในบริเวณหลอดเลือดแดงที่ถูกทำลาย จะทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในที่สุด  แต่ถ้าเราได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพียงพอ สารต้านอนุมูลอิสระเข้าไปป้องกันหรือแย่งที่จับกับอนุมูลอิสระ และนำอนุมูลอิสระเหล่านั้นไปทิ้งนอกเซลล์ ทำให้เซลล์ไม่ถูกทำลาย

 

 

ร่างกายจึงมีกลไกที่จะกำจัดสารอนุมูลอิสระได้ 2 วิธี คือ

  • การใช้เอนไซม์ที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อจับกับอนุมูลอิสระ เช่นเอ็นไซม์ superoxide dismutase (SOD) เอ็นไซม์ catalase glutathione peroxidaes แต่ร่างกายมักสร้างไม่เพียงพอ เซลล์จึงเกิดการบาดเจ็บขึ้น และเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น การสร้างสารต้านอนุมูลอิสระจะลดลง ในขณะที่อัตราการเกิดอนุมูลอิสระยังเท่าเดิม ผลที่ตามมาคือ ทำให้เกิดโรคต่างๆมากมาย
  • การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจากอาหาร เช่นวิตามิน อี เบ้ตาแคโรทีน แอนโทไซยานิดิน (anthrocyanidin) สารประกอบโฟลีฟีนอลต่างๆ เช่น แทนนิน แคทซิชิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงโคเอนไซม์คิวเท็น (CoenzymeQ10) หรือโคคิวเท็น (Co Q10) หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่ออื่นๆ เช่น  ยูบิควิโนน (Ubiquinone) โดยจัดเป็นสารจำพวกวิตามิน หรือคล้ายวิตามิน และมีอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย ทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ที่จำเป็นตัวหนึ่งในการเริ่มปฏิกิริยาเคมีเพื่อสร้างพลังงาน ในร่างกาย จึงมีความสำคัญต่อกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ เนื่องจากหัวใจต้องทำงานตลอดเวลา สำหรับบุคคลทั่วไป แม้ว่าร่างกายจะสร้าง   CoQ10 ได้เอง แต่ความสามารถนี้จะลดลง เมื่ออายุ 21 ปีขึ้นไป ในขณะที่ปริมาณที่ร่างกายต้องการกลับไม่ลดลง

 

  

จากข้อมูลในการทำวิจัยเบื้องต้นพบว่าน้ำมันรำข้าวที่ผ่านการสกัดเย็นเป็นแหล่งที่ดีของ CoQ10 เช่นกัน และมีหลายการศึกษาพบว่า CoQ10 มีบทบาทที่สำคัญต่อการรักษาโรคทาลัสซีเมีย นอกจากนี้ CoQ10 ยังช่วยลด oxidative stress ทำให้มีการต้านอนุมูลอิสระได้ดียิ่งขึ้น และยังสามารถชะลอการเสื่อมของเซลล์สมองที่เกิดจาก oxidative stress โดย CoQ10 จะทำหน้าที่ stabilizing mitochondria membrane ด้วยเหตุนี้ CoQ10 จึงอาจเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยที่เกิดจากเซลล์สมองเสื่อม ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรค Friedreich's Ataxia  

 

ดังที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า ข้าวนับว่าเป็นธัญญาหารที่มหัศจรรย์ กล่าวคือในตัวข้าวเองมีคุณค่าทางโภชนาการอยู่บนทุกอณูของเมล็ด ทั้งเนื้อข้าว รำข้าว หรือจมูกข้าว ดังนั้นเราควรกินข้าวให้ครบทุกส่วนของเมล็ด เพื่อชีวิตที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคเรื้อรังต่างๆ และมีสุขภาพดี มีอายุยืนยาว

 

 

บทความล่าสุด

ข่าวสารอัพเดด

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้ เพื่อให้ท่านได้รับการใช้งานเว็บไซต์ที่ดี แสดงผลได้ถูกต้อง หากคุณใช้งานเว็ปไซต์ของเราต่อถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้


© RICE SCIENCE CENTER, KASETSART UNIVESITY KAMPHAENG SAEN CAMPUS

เลขที่ 1 หมู่ที่ 6 ตำบล กำแพงแสน อำเภอ กำแพงแสน จังหวัด นครปฐม 73140 ประเทศไทย
ติดต่อแอดมิน anut.su@ku.th


  (+66) 086 479 5603


Free Joomla! templates by AgeThemes